LIFESTYLE » ย้อนสำรวจประวัติศาสตร์เมืองในจินตนาการของรัชกาลที่ 6 ในเทศกาล Bangkok Art Biennale ที่ เดอะ พรีลูด วัน แบงค็อก

ย้อนสำรวจประวัติศาสตร์เมืองในจินตนาการของรัชกาลที่ 6 ในเทศกาล Bangkok Art Biennale ที่ เดอะ พรีลูด วัน แบงค็อก

15 มีนาคม 2021
613   0

นับเป็นข่าวดีสำหรับคนรักศิลปะ ที่ขณะนี้เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 (Bangkok Art Biennale 2020) ภายใต้แนวคิด “ศิลป์สร้าง ทางสุข (Escape Routes)” ได้ประกาศขยายเวลาจัดงานที่ เดอะ พรีลูด (The Prelude) วัน แบงค็อก (One Bangkok) จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เข้าชม ให้ได้แวะเวียนเข้าไปเสพงานศิลป์ที่ถ่ายทอดความคิด จินตนาการ และส่งต่อพลังบวกท่ามกลางผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 

หนึ่งในไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ คือผลงานชุดที่ใช้ชื่อว่า “ดุสิตธานี” และผลงาน “บ้านน้อมเกล้า” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประทีป สุธาทองไทย ที่จัดแสดง ณ เดอะ พรีลูด วัน แบงค็อก ซึ่งเป็นงานสันนิษฐานรูปแบบสิ่งปลูกสร้างในอุดมคติที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้สร้างขึ้นในรัชสมัย  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินเจ้าของผลงาน  ได้เนรมิตพิมพ์เขียวของดุสิตธานีขึ้นมาใหม่ พร้อมเชื่อมโยงเรื่องราวของเมืองในฝันแห่งนี้เข้ากับการสำรวจความเป็นจริง ผ่านมุมมองภาพถ่ายทางอากาศของหมู่บ้านน้อมเกล้า ในอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2523  

อาจารย์ประทีปคือศิลปินที่มีเอกลักษณ์ด้านการรังสรรค์งานศิลปะผ่านสื่อภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหว โดยถ่ายทอดเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคน สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากการสืบค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และการศึกษาข้อมูลที่ถูกเก็บบันทึกในรูปแบบต่างๆ อาทิ หนังสือ ตำรา และสิ่งพิมพ์เก่าๆ โดยการขุดคุ้ยประวัติศาสตร์นี้เองที่ทำให้ อาจารย์ประทีปได้มองเห็นและกลับไปตรวจสอบมิติที่ถูกหลงลืม ตลอดจนสร้างจินตนาการต่อยอดออกไปด้วยวิธีทางศิลปะ จนเกิดเป็นผลงานที่ประกอบด้วยทั้งความงามและความหมายให้ตีความในหลายระดับ นอกจากนี้ บทบาทการเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคามของศิลปินผู้นี้ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จุดประกายความสนใจในด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของภาคอีสาน ที่ถูกสะท้อนออกมาในผลงานชุดนี้อีกด้วย 

อาจารย์ประทีป กล่าวว่า “ผลงานชุดนี้เกิดจากการถอดแบบอาคารตามหลักฐานที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ ทั้งภาพถ่ายเก่าและสิ่งก่อสร้างส่วนหนึ่งที่ได้รับการบูรณะรักษาไว้ โดยผมและสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมมือกันประกอบร่าง และชุบชีวิตให้เมืองจำลองแห่งนี้ด้วยการนำข้อมูลที่ค้นพบมาวาดใหม่ด้วยเทคนิคทางจิตรกรรมเหมือนจริง”  

“ดุสิตธานีเป็นเมืองในอุดมคติที่ถูกสร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประดุจจังหวัดหนึ่งในสยามที่มีผังเมือง สถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ทันสมัย และองค์ประกอบของระบอบประชาธิปไตย โดยภาพวาดของดุสิตธานีที่สร้างขึ้นใหม่นี้ถูกนำมาจัดแสดงร่วมกับภาพถ่ายทางอากาศของหมู่บ้านน้อมเกล้า ในจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกสร้างโดยรัฐบาลร่วมกับประชาชน จากการประนีประนอมระหว่างรัฐกับอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของไทยที่ออกจากป่า โดย 2 ผลงานนี้จะแสดงให้เห็นลักษณะทางกายภาพของเมืองและความหมายระหว่างเมืองในฝันและความจริงที่ถูกร้อยเป็นเรื่องเดียวกัน” ศิลปินเจ้าของผลงาน “ดุสิตธานี” และ “บ้านน้อมเกล้า” กล่าวเสริม 

แนวคิดของเมืองในฝัน 2 รูปแบบที่อยู่คนละช่วงเวลาแต่ทาบทับอยู่ในพื้นที่เดียวกันของคุณประทีป เป็นการสื่อสารถึงอุดมคติและอุดมการณ์ของการสร้างชุมชนที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย และในขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนความรู้สึกโหยหาอดีต​ และการขุดคุ้ยมรดกทางวัฒนธรรมที่อาจจะถูกหลงลืมไปให้กลับมามีชีวิตด้วยการพยายามถักทอเชื่อมต่อกับความเป็นปัจจุบัน ตลอดจนกระตุ้นความคิด และการตั้งคำถามให้กับผู้พบเห็น ภายในสถานที่จัดแสดงผลงานอย่าง เดอะ พรีลูด วัน แบงค็อก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 ด้านหน้าสวนลุมพินี 

ทั้งนี้ เทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ได้มีการจัดงานเสวนา “BAB Talk #47: ย้อนสำรวจดุสิตธานี เมือง(จำลอง)ประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์

เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีรศรี โพวาทอง นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เชื้อพร รังควร เลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม รวมไปถึงการตีความความสัมพันธ์ของเมืองทั้งสองในฐานะเมืองในฝันที่เกิดขึ้นในบริบทและช่วงเวลาที่แตกต่างกัน 

นอกเหนือจากผลงาน “ดุสิตธานี” และ “บ้านน้อมเกล้า” แล้ว ภายใน เดอะ พรีลูด วัน แบงค็อก ยังมีการจัดแสดงผลงาน “4th Infinite Growth #1 & #2, 2020” และ “Sappaya Sapha Sathan, 2020” โดยศิลปินชาวญี่ปุ่น ยูเกน เทรูยะ ซึ่งเป็นผลงานการจำลองอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จากมุมสูงโดยใช้เงินในเกมเศรษฐี (Monopoly)เป็นวัสดุ ที่แฝงนัยยะถึงการแลกเปลี่ยนและซื้อขายสกุลเงินทั้งแบบสมมติและของจริง และมูลค่าของเงินนั้นที่ผันผวนขึ้นลงโดยขึ้นอยู่กับอิทธิพลภายนอก เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ โรคระบาดใหญ่ แรงเสียดทานทางการเมือง และสงครามการค้า 

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามารับชมผลงานทั้งหมดนี้ได้ที่ เดอะ พรีลูด (The Prelude) วัน แบงค็อก ตั้งแต่ 10.00-20.00 น. (ปิดทุกวันอังคาร) ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย