WHAT'S NEWS » นก สินจัย – เบิ้ล ปทุมราช นำทีมนักแสดง ร่วมงาน Bangkok ASEAN Film festival 2021 ครั้งที่ 7

นก สินจัย – เบิ้ล ปทุมราช นำทีมนักแสดง ร่วมงาน Bangkok ASEAN Film festival 2021 ครั้งที่ 7

9 ธันวาคม 2021
725   0

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ หน่วยงานรัฐและเอกชน จัดงาน เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ๒๕๖๔ (Bangkok ASEAN Film festival 2021) ครั้งที่ ๗ ระหว่างวันที่  ๘-๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า และโรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) ที่มุ่งใช้มิติวัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทย และผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียน

การจัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ๒๕๖๔ (Bangkok ASEAN Film Festival 2021) ครั้งที่ ๗  จึงนับว่าเป็นอีกโอกาสที่สำคัญสำหรับบุคลากรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งของไทยและเพื่อนสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศพันธมิตรในเอเชีย จะได้ร่วมมือกันฟื้นฟูและร่วมกันเริ่มต้นใหม่เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ยั่งยืนต่อไป

โดยในพิธีเปิดงานมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฯ ร่วมด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม,   นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม , นายธนกร ปุลิเวคินทร์  ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ, น.ส.วรรณสิริ โมรากุล ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม ภายในงานเปิดตัวด้วยเหล่านักแสดงร่วมเดินพรมแดง อาทิ  สินจัย เปล่งพานิช, เบิ้ล ปทุมราช, สหัสชัย ชุมรุม, ไมเคิล เชาวนาศัย, ป๊อบปี้ ชนม์นิภา ฯลฯ  และชมศิลปะเอกลักษณ์ไทยจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พร้อมแขกผู้มีเกียรติในแวดวงภาพยนตร์ร่วมงานอย่างคับคั่ง โดยมี ได๋ ไดอาน่า ทำหน้าที่พิธีกร   พร้อมร่วมชมภาพยนตร์เปิดเทศกาลเรื่อง ONE SECOND” ผลงานกำกับของ “จางอี้โหมว” ผู้กำกับชั้นครูจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

         นอกจากนั้นยังมีการจัดฉายภาพยนตร์คุณภาพ ๓๗ เรื่อง จากประเทศสมาชิกอาเซียน และภาพยนตร์จากกลุ่มเอเชียได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งทุกเรื่องจะมีบทบรรยายภาษาไทย-อังกฤษ เข้าชมฟรีทุกเรื่องทุกรอบ โดยแบ่งเป็นภาพยนตร์จัดฉาย ดังนี้

๑.ภาพยนตร์อาเซียนฉายโชว์ (SHOWCASE : ASEAN PLUS) ภาพยนตร์จากประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนและจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและอินเดีย รวม ๑๒ เรื่อง จัดฉายเรื่องละ ๒ รอบ อาทิ ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง Belle ผลงานของมาโมรุ โฮโซดะจากประเทศญี่ปุ่น, Vengeance Is Mine, All Others Pay Cash ผลงานของเอ็ดวิน และ Yuni ผลงานของผู้กำกับหญิง คามิลา อันดินี สองภาพยนตร์จากสาธารณรัฐอินโดนีเซียที่คว้ารางวัลใหญ่จากเทศกาลสำคัญๆ ในปีนี้, The Edge of Daybreak (พญาโศกพิโยคค่ำ) ผลงานภาพยนตร์ของไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ จากประเทศไทย, White Building ผลงานภาพยนตร์ของ Kavich Neang ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่จากประเทศกัมพูชา, In Front of Your Face ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ Hong Sangsoo ผู้กำกับเกาหลีใต้ระดับแนวหน้า,  A Night of Knowing Nothing ภาพยนตร์จากผู้กำกับหญิงหน้าใหม่ Payal Kapadia จากประเทศอินเดีย เป็นต้น

๒. การฉายภาพยนตร์ของสายการประกวดภาพยนตร์สั้นอาเซียน (ASEAN SHORT FILM COMPETITION) ๑๔เรื่อง พิจารณาตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งไทยและต่างประเทศ ๓ ท่าน โดยมอบรางวัล ดังนี้ (๑) รางวัล BEST ASEAN SHORT FILM ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินสด ๒,๐๐๐ USD (๒) รางวัล JURY PRIZE ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินสด ๑,๐๐๐ USD (๓) รางวัล SPECIAL MENTION ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินสด ๕๐๐ USD

และเพื่อให้เกิดความหลากหลายและขยายขอบเขตการสนับสนุนภาพยนตร์สั้นในภูมิภาคและพันธมิตรในเอเชีย ทางเทศกาลได้จัดฉายสายโชว์ของภาพยนตร์สั้น (BAFF SHORT FILM SHOWCASE) เป็นการรวบรวมผลงานภาพยนตร์สั้นที่โดดเด่นในรอบปีจากเทศกาลเมืองคานส์ ๓ เรื่อง พร้อมฉายร่วมกับภาพยนตร์สั้นจากผู้ชนะ ๓ รางวัลจาก SHORT FILM PROJECT (PROJECT 19)

๓. การจัดฉายภาพยนตร์อาเซียนทรงคุณค่า (ASEAN Classic) ๓ เรื่อง ได้แก่ ช่างมัน ฉันไม่แคร์ นำแสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช, ลิขิต เอกมงคล ผลงานกำกับของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล, Aimless Bullet หนึ่งในภาพยนตร์เกาหลีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ และ The Daughter of Japan ผลงานที่หาดูยากจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การประกวดโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ขนาดยาวอาเซียน (SEA PITCH) : SOUTHEAST ASIAN PROJECT PITCH) คัดเลือกโครงการสร้างภาพยนตร์ขนาดยาว ๘ โครงการ โดยคนทำหนังจากภูมิภาค อาเซียนที่มีไอเดียในการผลิตภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งโครงการที่ผ่านการคัดเลือกผู้กำกับและโปรดิวเซอร์จะเข้าร่วมอบรมพิเศษออนไลน์ด้านการนำเสนอโปรเจกต์ (Pitching) กับผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ       ๒ ครั้ง เพื่อเตรียมตัวนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติ และมอบรางวัลให้กับผู้ชนะการประกวด จำนวน ๓ รางวัล ได้แก่ ๑.รางวัล SEAPITCH Award ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินสด ๕,๐๐๐ USD ๒.รางวัล Runner-Up Prize ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินสด ๓,๐๐๐ USD และ๓.รางวัล SPECIAL MENTION ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัล และเงินสด ๒,๐๐๐ USD โดยจะมีพิธีประกาศรางวัลและปิดเทศกาลในวันที่ ๑๓ ธ.ค. ๒๕๖๔ ณ โรงภาพยนตร์ พารากอน ซินีเพล็กซ์

อีกทั้ง ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ จะมีการสัมมนาในหัวข้อ ”IS ASEAN CONTENT READY TO TAKE ON THE WORLD?”     ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์  เป็นการได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทางภาพยนตร์ในระดับนานาชาติ มาร่วมกันวิเคราะห์ให้เห็นถึงสถานการณ์การผลิตคอนเทนต์ของภูมิภาคว่าอนาคตของคอนเทนต์เหล่านี้มีที่มีทางอยู่ตรงไหนในวงการภาพยนตร์ระดับโลก

และในวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ จะมีการสัมมนาในหัวข้อ “Going Virtual” ร่วมกับ ACBS (Asia Content Business Summit) ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีการนำเสนอข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฯ จากประเทศ อาทิ ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศอินโดนีเซีย สาธารรัฐเกาหลี และประเทศฟิลิปปินส์ และการประกาศโครงการของ ACBS กับการรายงานสถานการณ์ของประเทศสมาชิก แนวโน้มของอุตสาหกรรมสารัตถะภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) และการเสนอโครงการความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างประเทศจากทวีปเอเชีย อีกทั้งภายในงานยังมีกิจกรรมเวิร์คช็อปด้านภาพยนตร์ Short Film Camp 2021 จัดโดยกองทุน Purin Pictures

           ผู้สนใจลงทะเบียนจองบัตรชมภาพยนตร์ล่วงหน้าได้ที่www.baff.go.th และ www.facebook.com/ BangkokAseanFilmFestival ตั้งแต่บัดนี้  และรับบัตรชมภาพยนตร์ได้ที่จุดประชาสัมพันธ์เทศกาลฯ บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ก่อนรอบฉาย ๓๐ นาที โดยรับบัตร ๑ คนต่อ ๑ ที่นั่ง ตรวจสอบรอบฉาย และสอบถามรายละเอียดได้ที่ Call Center ๐๒ ๒๐๙ ๓๕๑๙ www.facebook.com/BangkokAseanFilmFestival