WHAT'S NEWS » TCEB และ THACCA กระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยพลังของอินฟลูเอนเซอร์ไทย-อินเตอร์ ขับเคลื่อนเทศกาลไทยสู่ระดับโลก

TCEB และ THACCA กระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยพลังของอินฟลูเอนเซอร์ไทย-อินเตอร์ ขับเคลื่อนเทศกาลไทยสู่ระดับโลก

13 กรกฎาคม 2025
52   0

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คือบุคคลที่ทรงอิทธิพลทางความคิด และการตัดสินใจของผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย สามารถโน้มน้าวให้ผู้ติดตามตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ เลือกติดตามแบรนด์ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของแบรนด์ได้มากขึ้น ทำให้อินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นช่องทางโปรโมตที่หลายๆ แบรนด์เลือกใช้กัน ไปจนถึงใช้โปรโมตเทศกาลไทยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านพลังแห่งซอฟต์พาวเวอร์

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB และ สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ THACCA เดินหน้าสนับสนุนมหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ด้านเฟสติวัล ภายใต้แนวคิด ‘Road to Thailand World Influencer Summit – Spark Thai Festivals : Local to Global’ จุดประกายอินฟลูเอนเซอร์นำเทศกาลไทยสู่สายตาโลก รวมตัวผู้นำความคิด พลังของ Influencer Marketing มารวมไว้ในเวที Visionary Stage ภายในงาน SPLASH – Soft Power Forum 2025 มหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ฮอลล์ 1 – 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ไฮไลต์ของการเสวนา เริ่มต้นด้วยการแสดงเปิดงานให้ผู้ชมได้ซึมซับถึงเสียงแห่งซอฟต์พาวเวอร์ไทยโดย The Paradise Bangkok วงดนตรีหมอลำร่วมสมัยที่พาศิลปะไทยไปไกลถึงเวทีระดับโลก

ต่อด้วยการเสวนาในหัวข้อ SPARK Influencer Marketing Power for Event Creators เมืองแห่งเทศกาลผสานพลังอินฟลูเอนเซอร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย นำโดย ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MI GROUP ที่สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญกับอินฟลูเอนเซอร์เป็นอย่างมาก สะท้อนจากเม็ดเงินทางการตลาดที่ใช้กับอินฟลูเอนเซอร์ในแคมเปญต่างๆ ที่เติบโตขึ้นถึง 30% ปัจจุบันสินค้าทุกประเภท ทุกแบรนด์มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์หมุนเวียนประมาณ 9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอินฟลูเอนเซอร์มืออาชีพ 3 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่านักการตลาดไม่ต่ำกว่า 80% เลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อช่วยผลักดันยอดขายเป็นช่องทางหลักตั้งแต่ยุคหลังโควิด

ภวัตย้ำว่าหลักสำคัญในการเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์คือต้องให้อิสระทางความคิดของครีเอเตอร์แต่ละคนที่มีฐานแฟนแตกต่างกัน และต้องมีเป้าหมายทางการตลาดที่ชัดเจน โดยหนึ่งในแคมเปญการตลาดที่ประสบความสำเร็จในการใช้อินฟลูเอนเซอร์ คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับงานมหาสงกรานต์ ที่เลือกใช้บล็อกเกอร์ทั่วโลก รวมถึงงาน Pride Month ที่ปีนี้คึกคักมากยิ่งขึ้นจากการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว และนำมาต่อยอดกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของโรงแรมและร้านอาหารได้เป็นอย่างดี

กฤต กฤตยาบาล Head of Media & Performance adapter digital agency ระบุว่าการใช้อินฟลูเอนเซอร์ จะทำให้ลูกค้าเป้าหมายสามารถเข้าถึงสินค้าแบรนด์ต่างๆ เพิ่มขึ้น 10 เท่า โดยตลาดอินฟลูเอนเซอร์มีแนวโน้มเติบโตขึ้น 30% ทุกปี ขณะที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย คือ Facebook, TikTok และ Line ตามลำดับ จากการประเมินของแบรนด์ต่างๆ พบว่าอินฟลูเอนเซอร์สามารถผลักดันยอดขายในตลาดประเทศไทยคิดเป็นมูลค่ากว่าพันล้านบาท ขณะที่มูลค่ารวมทั่วโลกมีการประเมินว่าไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท

“ปัจจุบันการแข่งขันของแบรนด์ต่างๆ และอินฟลูเอนเซอร์มีมากขึ้น จึงเกิดเป็นเทรนด์ในการเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ระดับนาโน และไมโครเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดรับกับผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในโซเชียลมีเดียที่ 90% ระบุว่าเขาจะเชื่อเพื่อนมากกว่าดารา ดังนั้นในแต่ละแคมเปญแบรนด์ต่างๆ จึงเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่หลากหลายเพื่อผลักดันให้เกิดยอดขาย”

กฤตเน้นย้ำว่าหลักการเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์อย่างมีประสิทธิภาพคือต้องพยายาม ถอดรหัสว่าอินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนมีความเหมาะสมกับงานของเรามากน้อยแค่ไหน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขณะที่เทรนด์ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจกับคอนเทนต์สั้นๆ ที่จะสามารถเรียกยอดวิวได้มากที่สุด

สำหรับช่วงเสวนาในหัวข้อ SPARK Influencer Marketing Playbook: How Influencers Elevate Thai Festivals Worldwide สูตรลับ พาเทศกาลไทยไประดับโลกด้วยพลังอินฟลูเอนเซอร์

โดย พงศ์สิริ เหตระกูล ผู้จัดงาน Awakening Festivals กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้อินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากมาพูดพร้อมๆ กันจะทำให้ผลลัพธ์ในการสื่อสารแรงกว่าการใช้สื่อใดสื่อหนึ่ง มีพลังในการโน้มน้าวใจทำให้คนเชื่อได้ สำหรับคนจัดงานเฟสติวัลจำเป็นต้องออกแบบงานของเราเพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์อยากจะพูดถึงด้วยตัวเอง ดังนั้นการจัดงานต้องมีเอกลักษณ์เพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์เลือกที่จะมางานนั้นๆ

กอบเกียรติ แสงวนิชย์ ผู้จัดงานวิ่ง Amazing Thailand Marathon Bangkok และ IRONMAN 70.3 Bangsaen กล่าวว่า การวิ่งเป็นกิจกรรมที่อยู่ในสังคมทั่วโลก จากแนวโน้มที่คนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ปัจจุบันมีการจัดวิ่งทุกสัปดาห์ 20-30 รายการในประเทศไทย การจัดงานวิ่งในสเกลระดับโลกครั้งหนึ่งจะสามารถดึงดูดนักวิ่งจากทั่วโลกได้สูงถึง 5 หมื่นคน ซึ่งยังไม่นับรวมครอบครัวของนักวิ่ง เท่ากับว่าหากจัดงานวิ่งระดับโลกได้สำเร็จ เราจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากกว่า 1 แสนคนต่องาน และเขาเหล่านี้จะกระจายให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในธุรกิจ โรงแรม และร้านอาหาร แต่หัวใจสำคัญของการจัดงานเฟสติวัลระดับโลกคือภาครัฐและเอกชนต้องสนับสนุนผู้จัดงานในระยะยาว เพื่อทำให้ผู้จัดงานเฟสติวัลสามารถยืนระยะและสร้างสรรค์งานดีๆ ต่อไปได้

เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ผู้บริหารเวทีมวยราชดำเนิน กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยมีจุดแข็งในการเป็นฮับด้านการบิน เป็นประเทศที่ชาวต่างชาติอยากจะเดินทางมาท่องเที่ยว เป็นโอกาสสำหรับผู้จัดงานอีเวนต์ เทศกาล และแบรนด์ต่างๆ ซึ่งสำหรับเวทีมวยราชดำเนินเองก็ตั้งเป้าว่าอยากจะทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นแลนด์ มาร์กแห่งใหม่เปรียบเสมือนดิสนีย์แลนด์ของเมืองไทย เป็นสถานที่ต่อยมวยที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดไปสู่การถ่ายทอดการแข่งขันกีฬามวยไทยไปทั่วโลกกว่า 200 ประเทศ จุดนี้เองที่ทำให้เวทีมวยราชดำเนินสามารถดึงดูดซูเปอร์อินฟลูเอนเซอร์อย่าง Jack Ma ผู้นำระดับโลก รวมถึงนักกีฬาระดับโลกให้มาเยือนและโปรโมตเวทีมวยราชดำเนินให้มีชื่อเสียงระดับโลกได้

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD ในฐานะผู้จัดงาน The Secret Sauce Business Weekend อีสาน 2025 กล่าวว่า เทรนด์การจัดงานอีเวนต์และเฟสติวัลปัจจุบันเริ่มกระจายตัวออกไปในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองรอง นอกจากนี้การจัดงานยังมีลักษณะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น งานแม่และเด็ก รวมถึงงานอีเวนต์ด้านสุขภาพ และอีกเทรนด์ที่น่าจับตาคือเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ซึ่งจะเห็นได้จากการปรับตัวของผู้จัดงานต่างๆ ที่พยายามใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดปริมาณของเสียเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

“ผมเป็นคนที่ทำงานด้านมีเดีย ทำคอนเทนต์เพื่อสร้างคอมมิวนิตี้ เปลี่ยนคนอ่าน คนดู คนฟัง มาร่วมกิจกรรม ปัจจุบันจะเริ่มเห็นเทรนด์คนต่างจังหวัด โดยเฉพาะคนในภาคอีสาน มีดีมานด์มากขึ้น เขาต้องการงานอีเวนต์และเฟสติวัลที่ดี ประเทศไทยไม่ใช่กทม. และ กทม.ไม่ใช่ประเทศไทย อีเวนต์จึงถูกกระจายไปจัดในภูมิภาคมากขึ้น”

นครินทร์ ย้ำว่า จุดแข็งของประเทศไทยคือ อาหาร ดนตรี ศิลปะ โลเคชันเราดีอยู่แล้ว คนมาภูมิภาคนี้ก็ต้องมาเมืองไทย ความสามารถของคนไทยไม่แพ้ใคร ขณะที่จุดอ่อนของประเทศไทยคือระบบ กฎเกณฑ์ รวมถึงการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน เช่น ในอดีตไทยเคยอยากเป็นศูนย์กลางด้านอาหารของโลก อยากเป็นเมืองแฟชั่นระดับโลก ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ควรมีการวางแผนระยะยาวที่ชัดเจนในการส่งเสริม สิ่งสำคัญที่ต้องการคืออยากให้รัฐบาลทำหน้าที่เป็น enabler เป็นเสมือนประตู หน้าต่างที่ทำให้งานระดับโลกมาถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้จัดงานในประเทศไทย และดึงดูดอินฟลูเอนเซอร์ระดับโลกให้มาโปรโมตงานต่างๆ ที่น่าสนใจอยู่แล้วในประเทศเพื่อขยายไปสู่ต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน

ปิดท้ายด้วยเสวนาหัวข้อ SPARK Global Lens on Local Treasures เปิดมุมมองระดับโลกดึงเสน่ห์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย นำโดย Tom Grond นักเดินทางสายลุยจากเนเธอร์แลนด์ ผู้เดินทางรอบโลกมาแล้วกว่า 150 ประเทศ ที่กล่าวว่า งานสงกรานต์ งานลอยกระทง งานฟูลมูนปาร์ตี้ อาหารไทย และคำพูดภาษาไทย คือสิ่งที่เขาประทับใจเมื่อมาเที่ยวประเทศไทย เมืองไทยมีสิ่งดีๆ อยู่มากมายในการสร้างเสน่ห์ใหม่ๆ ผ่านซอฟต์พาวเวอร์เพื่อจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สอดคล้องกับ Mike Yu ครีเอเตอร์ชาวฮ่องกง เจ้าของไวรัลระดับโลก Street Interview ที่เปลี่ยนทุกบทสนทนาให้กลายเป็นกระแส ระบุว่าอินฟลูเอนเซอร์ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ ให้เป็นกระแสสังคม

ขณะที่ ฟิล์ม ธนภัทร กาวิละ นักแสดงไทยผู้ข้ามพรมแดนสู่ใจแฟนจีน กล่าวว่า ละคร คุณชาย ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในกลุ่มอินเตอร์แฟน และแฟนๆ ชาวจีน สะท้อนให้เห็นถึงความชื่นชอบแฟนต่างชาติ รวมถึงไปจัดแฟนมีตติ้งต่างๆ สามารถนำความเป็นไทยไปนำเสนอ ซึ่งเขาพบว่าแฟนๆ ต่างชื่นชอบซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ซึ่งหากเป็นไปได้เขาอยากเห็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อให้ชาวต่างชาติได้เห็นเทศกาลไทยที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักและอยากมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น

ด้าน เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ ศิลปินที่ผสมผสานวัฒนธรรมไทยกับความเป็นป๊อปได้อย่างทรงพลัง กล่าวว่าตัวเขาเองเกิดมาจากเวทีประกวดที่ใช้เอกลักษณ์ความเป็นไทยในการนำ เสนอตัวเอง จากการตระเวนไปแสดงเทศกาลไทยในต่างประเทศเขาพบว่าชาวต่างชาติตื่นตาตื่นใจกับความเป็นไทยค่อนข้างมาก สิ่งที่เขาอยากเห็นคือเทศกาลใหม่ๆ ของประเทศไทยที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ เช่น เทศกาลหน้ากากจากจังหวัดต่างๆ ที่สามารถสะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เขายังมองว่าอินฟลูเอนเซอร์มีส่วนสำคัญอย่างมากในการถ่ายทอดซอฟต์พาวเวอร์ และเทศกาลไทยให้ไปสู่สายตาชาวโลกได้ ที่สำคัญภาครัฐและเอกชนต้องสนับสนุนให้มีการจัดงานเทศกาลอย่างต่อเนื่องใน ระยะยาว

สำหรับภาพรวมของเวที SPARK Thai Festivals : Local to Global จุดประกายอินฟลูเอนเซอร์นำเทศกาลไทยสู่สายตาโลก จบลงด้วยแนวคิดที่น่าสนใจจากตัวจริงในหลากหลายวงการ และข้อคิดของพวกเขาล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลักดันประเทศ ไทยให้เป็นเมืองแห่งเทศกาลระดับโลกด้วยพลังอันเปี่ยมล้นของอินฟลูเอนเซอร์

ซึ่งภารกิจในการผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นเมืองแห่งเทศกาลระดับโลกด้วย พลังของอินฟลูเอนเซอร์ยังไม่จบอยู่แค่นี้ หลังจากนี้เตรียมพบกับโอกาสสำคัญของ Influencer และ Content Creator ทั่วประเทศ กับคลาสเรียนออนไลน์ที่ออกแบบมาเพื่อเติมทักษะการคิด การเล่าเรื่อง และการสร้างคอนเทนต์ให้ทรงพลัง โดยใช้เรื่องราวท้องถิ่นของตัวเอง พาคอนเทนต์ของคุณให้โดดเด่น มีไลฟ์สไตล์และเข้าถึงผู้คนได้มากกว่าที่เคย กับหลักสูตรคลาสเรียนออนไลน์ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในวงการ และต่อยอดสู่กิจกรรมพิเศษกับ “Influencer Competition เวทีประกวดเพื่อเฟ้นหาสุดยอดอินฟลูเอนเซอร์ที่ใช่จากทั่วประเทศใน 14 อุตสาหกรรมขับเคลื่อน Soft Power” สามารถติดตามรายละเอียดการสมัคร “Online Class: The Art of Influencing People – ปลุกพลังคอนเทนต์ในตัวคุณ เล่าเฟสติวัลไทยให้โลกอิน” ได้เร็ว ๆ นี้ ผ่านช่องทางเพจ THE STANDARD และเพจ SPARK Thai Festivals: Local to Global งานนี้ฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย