WHAT'S NEWS » “SACIT” ก้าวสู่ปีที่ 5 ตอกย้ำความสำเร็จ เฟ้นปั้นดาวดวงใหม่ ดันหัตถศิลป์ไทยสู่สากล พร้อมต่อยอดสร้างความยั่งยืน

“SACIT” ก้าวสู่ปีที่ 5 ตอกย้ำความสำเร็จ เฟ้นปั้นดาวดวงใหม่ ดันหัตถศิลป์ไทยสู่สากล พร้อมต่อยอดสร้างความยั่งยืน

14 กรกฎาคม 2025
40   0

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT ประกาศก้าวสู่ปีที่ 5 อย่างมั่นคง ย้ำจุดยืนดันงานฝีมือคนไทยสู่เวทีสากล สานต่อบทบาท “นักปั้นดาวแห่งวงการงานหัตถศิลป์ไทย” ที่ส่งต่อองค์ความรู้ ภูมิปัญญา นำงานศิลปหัตถกรรมสร้างชื่อในเวทีสากล ควบคู่ผลักดันช่องทางตลาดขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หวังสร้างความยั่งยืนในงานศิลปหัตถกรรมไทย

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 4 ปี ก้าวสู่ปีที่ 5 สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT โดยระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีภารกิจสำคัญภายใต้วิสัยทัศน์ “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยช่วยไทย” เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ “ทำให้ประชาชนมีความสุข”

โดยร่วมผลักดันนโยบาย Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล ที่นำเอาเสน่ห์แห่งภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรมมรดกของชาติ มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดการสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์จากฝีมือคนไทย และสนับสนุนให้คนไทยร่วมซื้อร่วมใช้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งเล็งเห็นว่า สอดคล้องกับภารกิจของ SACIT ในการส่งเสริมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากงานศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก นำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของช่างฝีมือไทย ตลอดจนยังเป็นกำลังสำคัญในการส่งต่อองค์ความรู้ และคุณค่าในงานศิลปหัตถกรรม ให้ได้เป็นที่รู้จัก และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ

โดยกระทรวงพาณิชย์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า SACIT จะยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์งานศิลปหัตถกรรม สนับสนุนโอกาสทางการตลาดให้แก่ช่างฝีมือไทย ตลอดจนสิบสานงานศิลปหัตถกรรมไทย ควบคู่สร้างการรับรู้ และส่งต่อคุณค่าแห่งงานหัตถกรรมที่เป็นภาพลักษณ์ของประเทศให้ได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติ เพื่อให้ภูมิปัญญาไทยกลายเป็นอีกหนึ่งเสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต

ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา SACIT มุ่งขับเคลื่อนภารกิจงานภายใต้วิสัยทัศน์ สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม งานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน โดยมีกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนงานเชิงรุกเพื่อการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยภายใต้การดำเนินงาน 4 มิติ ได้แก่ การสืบสาน รักษางานหัตถศิลป์ที่คิดถึง หรือหัตถกรรมใกล้สูญหาย การมุ่งเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การยกระดับงานคราฟต์ผ่านเครือข่ายพันธมิตร และการสร้างองค์กรแห่งความสุข ตลอดจน ในปี 2568 นี้ SACIT ยังได้มีการปรับเปลี่ยนระบบอัตลักษณ์องค์กรใหม่ โดยมีบทบาทสำคัญในการเป็น “นักปั้นดาวแห่งหัตถศิลป์ไทยเชื่อมความงามไกลสู่สากล : Nurturing Thai Crafts to Global Trends และมาพร้อมกับ โลโก้ใหม่ “ดาวแปดแฉก” ที่แสดงให้เห็นถึงการส่องประกายของดวงดาว

ซึ่งเป็นภาพสัญลักษณ์แทนการขับเคลื่อนภารกิจงานของ SACIT เพื่อส่งต่อคุณค่าความงดงามของงานหัตถศิลป์ และผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย ด้วยการดำเนินการในบริบทต่าง ๆ เช่น การส่งเสริม Up Skill Re Skill แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ ร่วมสมัย สอดรับกับเทรนด์ใหม่ ๆ รวมทั้ง ทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งใน และต่างประเทศ อาทิ การเปิดพื้นที่จัดจำหน่ายในงาน Crafts Bangkok 2025 ที่ผ่านมา ซึ่งก็นับว่าเป็นงานสำคัญของ SACIT ที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ หรือจะเป็นการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ในงาน London Craft Week งาน Tout à fait Thai ณ กรุงปารีส งาน INDEX Dubai ณ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในการได้แสดงศักยภาพของงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล 

“การเป็นนักปั้น นับว่าเป็นบทบาทที่ท้าทายของ SACIT เพราะไม่ใช่แค่เฟ้นหาดาวดวงใหม่ แต่คงยังต้องทำหน้าที่เป็นสะพานส่งต่อความงดงามและเอกลักษณ์ของชาติให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ภูมิปัญญาอันล้ำค่าไม่สูญหายไป อีกทั้งยังเป็นกำลังหลักในการผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมสามารถสร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และยกระดับสร้างความเข้มแข็งให้แก่วงการงานศิลปหัตถกรรม”

นอกจากนี้ SACIT ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในงานศิลปหัตถกรรมไทย ผ่านการส่งเสริมใน 3 มิติหลัก ๆ ประกอบด้วย มิติทางวัฒนธรรม โดยขับเคลื่อนผ่านภารกิจสำคัญเพื่อให้เกิดการสืบสาน สืบทอดงานศิลปหัตถกรรมไทย ด้วยการเชิดชูผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยไม่ว่าจะเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมรุ่นใหม่ (New Young Craft) หรือแม้แต่การสนับสนุนให้เกิดเป็นชุมชนหัตถกรรม

เพื่อให้งานหัตถกรรมไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่สังคมไทย มิติทางสังคม ส่งเสริมให้เกิดการประกอบอาชีพ โดยใช้ภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรมมาเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต รวมทั้งส่งเสริมสร้างอาชีพจากงานศิลปหัตถกรรมให้แก่กลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เห็นคุณค่าในตัวเอง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ มิติทางสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการผลักดันงานศิลปหัตถกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดรับกับเทรนด์โลก จึงได้มีการสนับสนุนให้มีการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ และมีกระบวนการผลิตที่รักษ์โลกไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับเป้าหมายการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยที่ยั่งยืน SACIT ยังได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนา “คน” ผ่านการฝึกอบรม และรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพในสาขาวิชาชีพ ด้านการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรม เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ วางรากฐานที่แข็งแรงสู่ความยั่งยืน โดยมุ่งหวังว่าความร่วมมือนี้จะเป็นรากฐาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรเพื่อยกระดับทักษะความรู้ของช่างศิลปหัตถกรรมในแขนงต่าง ๆ อันจะนำมาสู่การพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เพื่อสร้างความยั่งยืนได้ในที่สุด